อย่างที่ทราบกันว่า กระแสคลีนบิวตี้กับการนิยมใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติกำลังมาแรง ซึ่งไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิตให้เฮลตี้ขึ้นก็รวมถึงการหันมาเลือกใช้สกินแคร์หรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของธรรมชาติกันมากยิ่งขึ้นด้วย โดยในปีที่ผ่านมาเครื่องสำอางหลายๆ แบรนด์ก็ได้มีการพัฒนาสูตรและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผิว เน้นส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือ สารออกฤทธิ์ที่มีความรุนแรงกันเพื่อตอบรับกับกระแสของผู้บริโภค
คลีนบิวตี้ หรือ เครื่องสำอางและสกินแคร์ที่ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- เครื่องสำอางที่มาจากส่วนผสมเป็นธรรมชาติ
สกินแคร์หรือเครื่องสำอางนั้นๆ มีส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ โดยแบรนด์ จะเลือกใช้ส่วนผสม ที่มาจากผืนโลก และพยายามเลี่ยงการนำมาผ่านกระบวนการต่างๆ ให้มากที่สุดเพื่อคงคุณค่าและความเป็นธรรมชาติไว้
Organic Skincare
- เครื่องสำอางที่เป็นออแกนิค
สกินแคร์ที่ส่วนผสมมีความบริสุทธิ์และไร้ซึ่งสารเคมีแบบ 100 เปอร์เซนต์ โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกพืชพรรณที่นำมาใช้ ต้องปลูกบนพื้นดินที่บริสุทธิ์และจะต้องไม่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรม (GMO)
เหตุนี้สกินแคร์ที่เป็นออกแกนิคจึงมีราคาสูงเพราะกระบวนการปลูกและสร้างสรรค์นั้นมาจากการดูแลอย่างประณีตและใช้เวลานั่นเอง นอกจากความปลอดภัยและมาจากธรรมชาติแล้ว วิธีการสกัดเพื่อให้ได้มาซึ่งสารสำคัญก็เป็นปัจจัยหลักที่จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับสมุนไพรแต่ละประเภท
กว่าจะได้ "สารออกฤทธิ์" ที่ใช้ได้ในเครื่องสำอาง ต้องผ่านกระบวนการอย่างไรบ้าง
พืชสมุนไพรเป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและความงาม สารสกัดที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีสารออกฤทธิ์ที่เข้มข้น ซึ่งสารสกัดสมุนไพรที่ดีขึ้นกับวัตถุดิบสำหรับสกัดที่มีคุณภาพ จะทำให้เมื่อสกัดออกมาแล้ว จะมีสารออกฤทธิ์ (Active compounds) ปริมาณสูง โดยวิธีสกัดสมุนไพรเข้มข้นจะขึ้นอยู่กับประเภทของสมุนไพรนั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
การสกัดโดยใช้ตัวทำละลายสกัด (Solvent extraction)
คือ การสกัดสารออกฤทธิ์ออกจากเนื้อเยื่อสมุนไพร โดยใช้ตัวทำละลายสัมผัสกับเนื้อเยื่อสมุนไพร และทิ้งไว้ตามระยะที่เหมาะสมจนกว่าจะได้สารสกัดสมุนไพรออกมา การสกัดด้วยตัวละลายสามารถทำได้หลายวิธีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- วิธีมาเซอเรชัน (Maceration) เป็นการหมักสมุนไพรกับตัวทำละลาย จนกระทั่งเนื้อสมุนไพรอ่อนนุ่ม และสารทำละลายแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อสมุนไพร จนได้ผงสมุนไพรออกมา เหมาะที่จะใช้กับสมุนไพรที่ไม่แข็งมาก
- วิธีเพอร์โคเลชัน (Percolation) เป็นการสกัดโดยปล่อยให้ตัวทำละลายไหลผ่านสมุนไพรอย่างช้าๆ เพื่อละลายเอาสารออกฤทธิ์จากสมุนไพรให้ออกมา เหมาะกับการสักสมุนไพรหลายรูปแบบและไม่ต้องความร้อนในการสกัด
- วิธีการสกัดสมุนไพรแบบต่อเนื่อง (Continuous Extraction) คือการสกัดสมุนไพรที่คล้ายกับวิธีเพอร์โคเลชัน แต่การสกัดแบบต่อเนื่องจำใช้ความร้อนเข้าช่วย ทำให้เกิดตัวทำละลายที่มีจุดเดือดต่ำ ตัวทำละลายจะระเหยแล้ว กลั่นตัวผ่านสมุนไพรซ้ำไปมา จนได้สารสกัดบริสุทธิ์เข้มข้น มักใช้ในกรณีที่ต้องการแยกน้ำมันออกจากสารสกัดบริสุทธ์
การกลั่น (Distillation)
มักใช้สำหรับทำน้ำมันหอมระเหย โดยปกติการกลั่นจะต้องใช้น้ำร้อนหรือไอน้ำเข้าไปแยกน้ำมันหอมระเหยออกมาจากพืช โดยการแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช ความร้อนจะทำให้สารละลายออกมากลายเป็นไอ ปนมากับน้ำร้อนหรือไอน้ำ ข้อดีของการสกัดวิธีนี้คือ สะดวกรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายน้อย ยกตัวอย่างเช่น
- การกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ (Water And Steam Distillation) จะใช้ตะแกรงรองของที่จะกลั่นให้เหนือระดับน้ำในหม้อกลั่น ต้มให้เดือด ไอน้ำจะลอยตัวขึ้นไปผ่านพืชหรือตัวอย่างที่จะกลั่น ส่วนน้ำจะไม่ถูกกับตัวอย่างเลย ไอน้ำจากน้ำเดือดเป็นไอน้ำที่อิ่มตัว เป็นไอน้ำที่ไม่ร้อนจัด
ปัจจุบันศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ได้มีการนำเอานวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิต และใช้อนุภาคนาโนไขมันเป็นส่วนประกอบ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ด้วยเทคนิคนาโนเอนแคปซูเลชั่น ทำให้สารสำคัญจากสมุนไพรที่ถูกกักเก็บไว้จะค่อยๆถูกปลดปล่อยออกมา และซึมซาบเข้าสู่ชั้นผิวอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งศักยภาพของวงการเครื่องสำอางที่มาจากการยกระดับศักยภาพสมุนไพรไทยในรูปแบบของอนุภาคนาโน และตอบโจทย์รัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ประกอบการก้าวไปสู่ตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม