ทุก ๆ ช่วงหน้าร้อน แต่ละแบรนด์จะมีการพัฒนาครีมกันแดดให้มีความน่าสนใจออกมาแข่งขัน เรียกเสียงฮือฮามากมาย ผู้ผลิตสารก็พร้อมจะปล่อยส่วนผสมเด็ด ๆ ออกมาให้ผู้ประกอบการได้นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ของตัวเอง ยิ่งเราให้เวลาในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสารกันแดดและกลไกการทำงานของสารกันแดดแต่ละประเภทมากเท่าไร จะทำให้เรามีความเข้าใจถึงจุดเด่นและจุดแตกต่างของสารกันแดดแต่ละประเภทมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบัน สารกันแดด นับได้ว่า เป็นหนึ่งในส่วนผสมของเครื่องสำอาง ที่ใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากที่สุดในวงการสกินแคร์ มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเลือกใช้สารกันแดดที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ผลลัพธ์จะฟ้องออกมาในรูปของผิวที่ไหม้แดด ยิ่งไปกว่านั้นไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคมองหาครีมกันแดดที่สามารถปกป้องผิวได้มากกว่าแสง UV ทั่วไป
ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ดีควรปกป้องผิวได้ทั้งรังสีได้อย่างหลากหลาย ไม่เฉพาะกับรังสี UVA-I, UVA-II และ UVB ที่เราเคยได้รู้จักเท่านั้น ปัจจุบันสารกันแดดมีการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานไปมาก จนสามารถปกป้องผิวจากรังสีอื่น ๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรังสีอินฟราเรด (Infrared; IR) รังสีความร้อนที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แต่เมื่อสัมผัสรังสีจะรู้สึกถึงความร้อน ไม่ว่าจะรู้สึกร้อนจากแดดหรือจากเปลวไฟ รังสีชนิดนี้สามารถทำลายชั้นผิวหนังได้ลึกในระดับเซลล์ เกิดสารอนุมูลอิสระ ทำให้คอลลาเจนในผิวลดลง เกิดริ้วรอยร่องลึก และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับแสงสีฟ้า (Blue light) คือรูปแบบของคลื่นแสงพลังงานสูง ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นในหลอดไฟนีออน ฟลูออเรสเซ็นต์ แต่ที่พบมากที่สุด คือ หน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผลสำรวจใน 1 วัน เราใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมงหรือปัจจุบันนี้อาจจะมากกว่า 5 ชั่วโมงเสียด้วยซ้ำ แสงสีฟ้าจะทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำ เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ง่าย ผิวขาดความชุ่มชื้นจนทำให้เกิดสิว ฝ้า กระ และจุดด่างดำได้อีกด้วย
การพัฒนาสูตรครีมกันแดด ควรปกป้องผิวได้มากกว่าแค่รังสียูวี อีกทั้งเสริมการบำรุงผิวไปในตัว และใช้งานง่ายไม่ทิ้งความเหนียวเหนอะหนะ ดังนั้นเจ้าของแบรนด์จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการเลือกสารกันแดด เพื่อนำมาผสมให้ออกมาเป็นสูตรที่มีประสิทธิภาพ และเลือกสารกันแดดที่ผ่านการทดสอบและรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ บทความนี้จะมาเจาะลึกในข้อมูลสารกันแดดให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้น
ประเภทของสารกันแดดในยุค 2021 แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามคุณสมบัติ ดังนี้
1. Physical Sunscreen
สารกันแดดแบบฟิสิคัล ทำหน้าที่เหมือนเป็นกระจกเงาสะท้อนหรือหักเหรังสี UV ออกไปจากผิว สารในกลุ่มนี้มีอยู่ 2 ประเภทคือ Titanium Dioxide และ Zinc Oxide (ปกป้องผิวจากรังสี UVA-I, UVA-II,UVB ได้ ซึ่งได้รับการรับรองจาก องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Food and Drug Administration; FDA) ว่ามีความปลอดภัย 100% ไม่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ (free radical) ที่เป็นตัวการทำให้เราแก่ก่อนวัย สารกันแดดประเภทนี้มีความคงทนต่อแสงแดดดีมาก แต่จะทึบแสง ค่อนข้างหนาและหนักผิว นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางผู้ทำสูตร ต้องคำนึงถึงปริมาณที่เหมาะสมในการใช้ เพื่อให้เมื่อทาลงบนผิวไม่ทำให้ผิวขาว ลอก ลอย มากจนเกินไป สารกันแดดประเภทนี้ มักอยู่ในรูปของครีมหรือโลชั่น
2. Chemical Sunscreen
สารกันแดดแบบเคมีคัล ทำหน้าที่ดูดซับรังสีไม่ให้ทะลุผ่านไปยังผิวหนังได้น้อยลง เป็นสารกันแดดที่พบได้ทั่วไป โดยต้องทาก่อนออกแดด 20-30 นาที สารกันแดดประเภทนี้มีหลาชนิด แต่ละชนิดให้การปกป้องรังสียูวีแตกต่างกันไป เช่น
- Benzophenones, Ecamsules: ดูดซับรังสี UVA
- PABA (para-aminobenzoic acid), Cinnamates: ดูดซับรังสี UVB
- Anthranilates: ดูดซับได้ทั้ง รังสี UVA และ UVB
โดยรวมแล้วสารกันแดดประเภทนี้มีความคงทนต่อแสงแดดระดับดี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และบางเบา จึงนิยมนำมาทำเป็นสารกันแดดสำหรับผิวหน้ามากกว่า มีทั้งรูปของน้ำ สเปรย์ มูส เจล โลชั่น และครีม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารกันแดดน้องใหม่ที่ปกป้องรังสีอื่น เช่นสารกันแดด Mexoryl XL(Drometrizole Trisiloxane) ถูกออกแบบมาให้ช่วยปกป้องรังสีอินฟราเรดเป็นหลัก มีการนำมาใช้ในแบรนด์ดังมากมาย หรือ สาร Tinosorb A2B (Tris-Biphenyl Triazine) ที่ทางผู้ผลิตเคลมว่ามีคุณสมบัติในการปกป้องกว้างไปถึงช่วงของ HEV / Blue Light
3. Hybrid Sunscreen
สารกันแดดลูกผสมระหว่าง Physical และ Chemical โดยรวมเอาจุดเด่นของสารกันแดดทั้งสองชนิด มาไว้ในตัวเดียวกัน มีคุณสมบัติทั้งสะท้อนและดูดซับรังสีในตัวเอง ทำให้มีผิวสัมผัสที่ดี ไม่เหนอะหนะ ไม่ขาววอก แลดูเป็นธรรมชาติ ในขณะเดียวกันมีความปลอดภัยและความเสถียรสูง สามารถปกป้องแสง UV ได้ยาวนาน และครอบคลุมความยาวคลื่นทั้ง UVA/UVB ได้ เช่น Bis-Benzotriazolyl Tetramethylbutylphenol หรือ Tinosorb M (ปกป้องผิวจากรังสี UVA-I, UVA-II, UVB ได้) สารกันแดดที่ดูดซับรังสีได้เหมือน Chemical Absorbers และสะท้อนหักเหแสงได้เหมือน Physical Blockers โดยข้อมูลทางด้านความปลอดภัยกล่าวว่าสารตัวนี้ซึมลงผิวได้น้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ จึงถือว่าสารกันแดดกลุ่มเป็นอีกทางเลือกของผลิตภัณฑ์กันแดดที่น่าสนใจทีเดียว
จริงหรือไม่? สารกันแดด ประเภทเคมีคัล ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิว
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าสารกันแดดเคมิคัล มีทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV โดยการดูดซับรังสีไว้ไม่ให้สามารถทะลุผ่านเข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนัง สามารถดูดกลืนรังสีไว้ได้ทั้งหมด จึงทำให้ป้องกันรังสี UV ได้เป็นอย่างดี ด้วยการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทำให้ สารกันแดด เคมิคัล มีความเสถียรและปลอดภัยในการใช้งาน ถึงแม้ว่า การระคายเคืองต่อผิวหนังโดยเฉพาะคนที่มีผิวแพ้ง่ายเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การเหมารวมว่าสารกันแดดเคมิคัลเป็นอันตรายต่อผิว อาจจะเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ยุติธรรมสักเท่าไหร่ เพราะอาการแพ้ เป็นเรื่องของปัจจัยส่วนบุคคล และสามารถเกิดขึ้นได้กับสารกันแดดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ฟิสิคัล เคมิคัล หรือ ไฮบริท
การใช้งานครีมกันแดดจึงควรทำการทดสอบการแพ้เบื้องต้นก่อนใช้งานทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแบรนด์ โดยการใช้งานที่ถูกต้องของสารกันแดดกลุ่มนี้ จะต้องทาครีมทิ้งไว้ 30 นาทีก่อนออกแดดเพื่อให้สารออกฤทธิ์ทำงาน และควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันแสงแดด หากดูจากข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าสารกันแดดประเภทเคมีคัลไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด เพียงต้องทำความเข้าใจกลไกการทำงานของสารกันแดดกลุ่มนี้เสียก่อน เพื่อให้สามารถใช้สารกันแดดกลุ่มนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการป้องกันแสงแดดนั่นเอง ปัจจุบันจะพบว่ามีทั้งผลิตภัณฑ์กันแดดที่ใช้สารป้องกันแสงแดดประเภทเดียวและใช้ทั้งสารป้องกันแสงแดดแบบฟิสิคัลและแบบเคมีคัลผสมกัน เพราะผลิตภัณฑ์กันแดดแบบผสม สามารถพัฒนาเนื้อสัมผัสได้อย่างหลากหลายอีกทั้งยังช่วยเพิ่มค่า SPF, PA ให้สูงขึ้นกว่าสารกันแดดประเภทเดี่ยว ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดให้เหมาะสมตอบโจทย์การใช้งานแต่ละโอกาส ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสารกันแดดประเภทเคมีคัล ว่าสารกันแดดประเภทนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผิวมากกว่าสารกันแดดประเภทฟิซิคัล ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสารกันแดดแต่ละประเภท หากใช้งานได้อย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดการระคายเคืองหรืออันตรายกับผิวได้เป็นอย่างดี
การทดสอบการแพ้ครีม (ใช้ได้กับทุกผลิตภัณฑ์) สามารถทดสอบได้โดยการทาครีมกันแดดบริเวณใต้ท้องแขนทิ้งไว้ 15 นาที แล้วสังเกตว่ามีอาการบวม แดงหรือไม่ ถ้าปรากฏอาการดังกล่าวแสดงว่าแพ้สารเคมีชนิดหนึ่งในสูตร อย่างไรก็ตามคนบางประเภท (delay sensitivity) จะใช้เวลานานกว่าจะปรากฏอาการแพ้ ดังนั้นจึงควรรอดูอาการถึง 24 ชั่วโมง หรือ 72 ชั่วโมง จึงจะสรุปได้ว่าไม่มีอาการแพ้
⭐️ สนใจดูสินค้ากลุ่มกันแดด Click ⭐️ สร้างแบรนด์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ⭐️