กลไกการ ผลัดเซลล์ผิว ตัวช่วยที่ทำให้ผิวสวย
พื้นฐานผิวที่ดี นอกจากการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นแล้ว ยังต้องดูแลผิวให้เรียบเนียน ซึ่งความเรียบเนียนของผิวนั้นขึ้นอยู่กับการดูแลผิวชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) อย่างถูกวิธี โดยลักษณะของหนังกำพร้าที่ดี จะต้องหนา ยิ่งหนา รูขุมขนก็จะยิ่งกระชับเล็ก ผิวจะดูเนียน ปกติแล้วผิวชั้นหนังกำพร้านี้จะมีอายุประมาณ 14 วัน หลังจากนั้นจะหลุดออกไปอยู่ในรูปแบบของขี้ไคล ผิวจะใช้เวลาอีก 14 วัน ในการสร้างเซลล์ผิวขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่หลุดไป แต่เมื่ออายุมากขึ้น กระบวนการ ผลัดเซลล์ผิว นี้จะเกิดช้าลงและใช้เวลานานมากขึ้น และการผลัดเซลล์ผิวที่ช้าลงจะเกิดผลเสีย เช่น ใบหน้าหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ ทำให้สภาพรวมบนใบหน้าเหมือนคนสูงวัย เนื่องจากเซลล์ผิวที่หมดอายุแล้วตกค้างสะสมบนใบหน้า
กระบวนการผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติ
โดยธรรมชาติแล้ว วงจรการผลัดเซลล์ผิว (Skin Cell Turnover) ของร่างกายมีระยะเวลา 21-28 วันในแต่ละช่วง การผลัดเซลล์ผิวจะเกิดขึ้นบริเวณส่วนบนสุดของผิวหนังชั้นกำพร้า (Epidermis) ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นนอกสุดของร่างกาย เราเรียกเซลล์ที่หลุดลอกนี้ว่า “ขี้ไคล” หรือชื่อในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สเตรตัม คลอเนียม (Stratum Corneum)” มีลักษณะซ้อนทับกัน 15-20 ชั้น และมีเคราตินเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงให้ผิว และทำให้ผิวยืดหยุ่น สามารถจัดเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้ ชั้นผิวหนังจะหนาหรือบางจึงขึ้นอยู่กับชั้นของเคราตินนี้ด้วย “ขี้ไคล” จะยึดติดกันด้วย “คอร์นีโอเดสโมโซม (Corneodesmosomes)” ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเซลล์ไม่ให้หลุดออกจากกัน เมื่อผิวครบวงจรการผลัดเซลล์ผิว หรือได้รับความเสื่อมสภาพจากปัจจัยเร่งเร้าภายนอก เช่นจากแสงแดด การอักเสบของผิว ควันบุหรี่ สารเคมี หรือมลพิษ ฯลฯ ร่างกายจะผลิตเอนไซม์ช่วยในการทำลายสะพานเชื่อมเซลล์นี้ และส่งผลให้มีการหลุดลอกของเซลล์ในลำดับต่อไป โดยผู้ที่มีสภาพผิวมันจะเป็นกลุ่มที่เจอปัญหานี้เป็นหลัก เนื่องจากน้ำมันบนผิวหน้าจะส่งผลให้เซลล์ผิวที่เสื่อมเหล่านี้เกาะกันแน่นจนเกินไป
การผลัดเซลล์ผิวที่ไม่สม่ำเสมอนี้เอง ทำให้การบำรุงผิวจะไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากครีมหรือเซรั่มที่ทาลงบนผิวนั้นจะถูกยึดติดอยู่บริเวณผิวที่เสื่อมสภาพก่อน ไม่สามารถซึมได้ถึงผิวชั้นใน จึงทำให้ครีมบำรุงผิวที่ใช้นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์ได้
การผลัดเซลล์ผิวยอดนิยม มี 2 วิธีหลักๆ คือ
” การผลัดเซลล์ผิวด้วยวิธีทางกายภาพ “
Physical Exfoliator คือ การผลัดเซลล์ผิวโดยใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น การทำ Dermabrasion ซึ่งการผลัดเซลล์ผิวลงลึกถึงชั้นหนังแท้ (Dermis) โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงจากแผลเป็นจึงสูงมาก วิธีนี้จึงเหมาะกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ดูแล อีกวิธีที่นิยมใช้กันก็คือ การกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี (Microdermabrasion) ซึ่งช่วยได้เฉพาะริ้วรอยเล็กๆ ผิวหน้าใสขึ้นมาบ้างเล็กน้อย เพราะเป็นเพียงแค่การขัดขี้ไคลเท่านั้น
” การผลัดเซลล์ผิวด้วยการใช้สารเคมี “
Chemical Exfoliants คือ การใช้สารเคมีทาลงไปที่ผิวหนัง และสารเคมีนี้ก่อให้เกิดแผลขึ้นที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นแผลที่เราจะต้องควบคุมได้ จากนั้นร่างกายเราก็จะเร่งขบวนการซ่อมแซมทำให้เกิดผิวหนังใหม่ตามมา ผลที่ได้รับคือ ผิวจะเรียบเนียน ขาวใส โครงสร้างผิวดีขึ้น ทั้งริ้วรอยและร่องผิวก็ตื้นขึ้น เป็นต้น
หัวใจสำคัญที่จะให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและมีอาการข้างเคียงจากการใช้น้อยที่สุด เราจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารสกัดแต่ละตัวที่จะนำมาใช้ รวมไปถึงความเข้มข้นต่าง ๆ ว่าแต่ละตัวสามารถซึมผ่านผิวหนังลงไปได้ลึกมากแค่ไหน จึงขอเน้นไปที่การผลัดเซลล์ผิวด้วยการใช้สารเคมี (Chemical Exfoliants) ซึ่งถือว่าเป็นหัวข้อที่คนส่วนใหญ่รู้จักและทำกันทั่วไป ทั้งในคลินิกแพทย์ความงาม ร้านเสริมสวยทั่วไป รวมถึงโรงงานรับผลิตเครื่องสำอาง
CHEMICAL EXFOLIANTS
AHA
Alpha Hydroxy Acid
เป็นชื่อของสารเคมีกลุ่มอัลฟ่าไฮดรอกซี่ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ สามารถละลายได้ดีในน้ำ มีคุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกสุด ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ ลดการอักเสบของผิว กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นหนังแท้ มีผลให้ปริมาณกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) ใช้ชั้นหนังแท้เพิ่มขึ้น และช่วยให้รูขุมขนและริ้วรอยบนใบหน้ามีขนาดเล็กลง AHA สามารถพบได้ทั่วไปในอาหารโดยเฉพาะผลไม้ จากกระบวนการหมักตามธรรมชาติของแบคทีเรียและเชื้อรา หรือจากการสังเคราะห์ทางเคมี AHA มีความแตกต่างด้านประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของ AHA แต่ละชนิด ดังนี้
- กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) พบได้ในอ้อย มีขนาดโมเลกุลเล็กที่สุด สามารถซึมสู่ผิวได้ดี มีฤทธิ์ต้านการเจริญของจุลชีพช่วยป้องกันสิวอักเสบ
- กรดแลกติก (Lactic Acid) พบในนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากกระบวนการหมักน้ำตาลแลกโตสในนมโดยแบคทีเรีย ช่วยทั้งเร่งการผลัดเซลล์ผิวและชะลอความเสื่อมสภาพของผิว
- กรดมาลิก (Malic Acid) พบในแอปเปิ้ล ต้องใช้ร่วมกับกรด AHA อื่น เพราะกรดมาลิกจะไปส่งเสริมให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- กรดซิตริก (Citric Acid) พบในผลไม้กลุ่มส้มมีฤทธิ์ช่วยในการปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของผิวให้เหมาะสม และช่วยทำให้ผิวมีความเรียบเนียนมากขึ้น
- กรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) พบได้ในผลองุ่น มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบจากสิวและการได้รับรังสียูวี
” AHA ช่วยเสริมสร้างความชุ่มชื้นให้ผิว และเสริมสร้างคอลลาเจน จึงเหมาะกับผู้ที่มีผิวแห้ง ผิวที่อ่อนแอจากการถูกแดดทำร้าย และผิวแพ้ง่าย “
BHA
Beta Hydroxy Acid
เป็นชื่อของสารเคมีกลุ่มเบต้าไฮดรอกซี่ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ มีคุณสมบัติคล้ายกับสารในกลุ่มกรดผลไม้ (หรือ AHA) แต่ BHA มีความแตกต่างจาก AHA ตรงที่ละลายได้ดีในน้ำมัน จึงสามารถละลายเซลล์ที่ตายแล้ว รวมทั้งซีบัม (Sebum) ที่อุดตันรูขุมขนได้อย่างมีประสิทธิภาพ BHA ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง กรดซาลิไซลิกที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมากที่สุด คือ กรดซาลิไซลิกและสารประกอบที่มีโครงสร้างใกล้เคียง เช่น สกัดสารซาลิซินจากเปลือกต้นหลิว (Salix Alba) แต่ปริมาณของกรดซาลิไซลิกในพืชมีน้อยไม่คุ้มค่าต่อลงทุนสกัด กรดซาลิไซลิกที่ใช้ด้านเครื่องสำอางจึงได้มาจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ การมีฤทธิ์ต้านการเจริญของจุลชีพ ย่อยสลายเคราติน และต้านการอักเสบ ผลิตภัณฑ์ที่มีซาลิไซลิกจึงเหมาะสำหรับดูแลผิวที่มีปัญหาสิวอุดตัน ผิวอักเสบ และเสื่อมสภาพของผิว โดยผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าที่วางขายทั่วไปมักมีความเข้มข้นของกรดซาลิไซลิกไม่เกิน 2-3% เพราะถ้าใช้กรดซาลิไซลิกที่ความเข้มข้นสูงมากเกินไปอาจทำให้ผิวไหม้ได้
“ BHA มีคุณสมบัติโดดเด่นตรงที่ละลายไขมันได้ จึงเหมาะสำหรับคนที่หน้ามัน และรูขุมขนกว้าง เพราะสามารถทำความสะอาดได้ถึงชั้นต่อมไขมัน ลดสิวอุดตันได้ดี “
PHA
Polyhydroxy Acids
เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิวคล้ายคลึงกับ AHA แต่มีความอ่อนโยนต่อผิวมากกว่า เนื่องจาก PHA มีขนาดโมเลกุลใหญ่และมีจำนวนหมู่ไฮดรอกซี่มากกว่า จึงไม่สามารถแทรกซึมลงสู่ผิวชั้นผิวได้ดีเท่ากับ AHA แต่จะออกฤทธิ์ที่บริเวณผิวชั้นนอกเป็นหลักโดยไม่รบกวนชั้นผิวที่ลึกลงไป PHA ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ กลูโคโนแลคโตน (Gluconolactone) กาแลคโตส (Galactose) และกรดแลคโตไบโอนิก (Lactobionic Acid) เป็น PHA ที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว โดยผลการทดสอบการใช้กลูโคโนแลคโตนพบว่า สภาพผิวหลังการใช้ไม่ไวต่อการสัมผัสรังสียูวีบี PHA สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของผิว โดยไปยับยั้งกระบวนการไกลเคชั่น (Glycation Inhibitors) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้โปรตีนคอลลาเจนและอีลาสตินที่ผิวอ่อนแอลง ผิวจึงแข็งแรงขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่า PHA มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและเป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ยอดเยี่ยม จึงช่วยปกป้องและซ่อมแซมชั้นหนังกำพร้าจากมลภาวะต่าง ๆ ผิวจึงสว่างใส เนียนนุ่มชุ่มชื้น และมีริ้วรอยลดลง
“ PHA เหมาะกับคนที่มีผิวแพ้ง่าย บอบบาง และไม่สามารถใช้ AHA ได้ รวมไปถึงคนที่เป็นสิว เพราะ PHA มีความอ่อนโยนมากกว่า ไม่กระตุ้นให้สิวอักเสบ “
LHA
Beta-Lipohydroxy Acid
เป็นอนุพันธ์ของตัวยา Salicylic Acid (SA) ซึ่งจัดอยู่ในกรดผลไม้ชนิด BHA ปัจจุบันได้นำมาผสมในเครื่องสำอางหลายชนิดที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ประสิทธิภาพดีกว่า BHA (Salicylic Acid) แต่ระคายเคืองน้อยกว่า ช่วยผลัดเซลล์ผิว สำหรับผิวหน้ามันรูขุมขนกว้าง ลดการอุดตัน ลดริ้วรอย ผิวนุ่มไม่แห้งกร้าน กระชับรูขุมขน LHA สามารถเสริมประสิทธิภาพการทำงานของ Retinoid ในแง่ Anti-Aging ได้ด้วย โดยได้ใช้ในการรักษาสิวอุดตัน (Comedone) ควบคู่กับครีมทากลุ่มวิตามินเอ (เรตินอยด์) ทำให้การรักษาได้ผลมากขึ้น การพัฒนา SA มาเป็น LHA (Lipophylic Beta Hydroxy Acid) ให้มีสรรพคุณย่อยสลาย Desmosome ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อของหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้เกิดการหลุดลอกของผิวหนังมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ LHA เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสิว หรือเป็นสิวได้ง่าย เพราะช่วยลดการเกิดสิวใหม่ และสามารถลดริ้วรอยได้ดีอีกด้วย “
สารที่ไม่ควรใช้กับ AHA
สารที่ไม่ควรใช้กับ AHA
- BHA เพราะทำให้ผิวยิ่งแห้งลอกง่าย ไม่แข็งแรง
- Vitamin C เพราะทำให้ผิวเสียสมดุล ได้คุณค่าจากส่วนผสมได้ไม่เต็มที่
- Vitamin B3 เพราะทำให้วิตามิน บี3 ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
สารที่ไม่ควรใช้กับ BHA
- AHA เพราะทำให้ผิวยิ่งแห้งลอกง่าย ไม่แข็งแรง
- Vitamin C เพราะทำให้ผิวเสียสมดุล ได้คุณค่าจากส่วนผสมได้ไม่เต็มที่
** LHA & PHA สามารถใช้ได้กับทุกสภาพผิว และยังไม่พบข้อมูลความไม่เข้ากันกับสารอื่นๆ แต่แนะนำทำเนื้อผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปของเหลว เพื่อประสิทธิภาพที่สูงสุด **
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเสริมการผลัดเซลล์ผิว ให้เลือกทดลองใช้หลากหลายแบรนด์ โดยกลุ่มสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดดังกล่าวสามารถใช้ได้กับสกินแคร์รูทีนของแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกลุ่มโทนเนอร์ กลุ่มมาส์ก กลุ่มเอสเซนส์ เพราะเป็นการช่วยให้ผิวหน้าได้ผลัดเซลล์ผิวเก่าอย่างอ่อนโยนได้ในแต่ละวัน แต่เมื่อใช้สกินแคร์ที่มีกรดช่วยผลัดเซลล์ผิวเหล่านี้ และสิ่งหนึ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็คือการปกป้องผิวด้วยผลิตภัณฑ์กันแดดในวันรุ่งขึ้น เพราะชั้นผิวบนสุดของเราไวต่อแสงแดดเร็วขึ้นจากการผลัดเซลล์
” ดังนั้น ถ้าหากเข้าใจหน้าที่ต่างๆของ AHA BHA PHA LHA แล้ว ควรใช้ให้ถูก เลือกให้เป็น เพียงเท่านี้ .. ก็จะพบฟ้าหลังฝนของคนรักษาสิว ที่แท้จริง “
ผลิตภัณฑ์กลุ่ม ดูแลปัญหาสิว และ ผลัดเซลล์ผิว สนใจ => Click