” Dermatologist Tested ” การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติหรือสารเคมี เมื่อนำมาใช้กับร่างกายอาจเกิดปฏิกิริยาต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้ โดยลักษณะการแพ้หรือการระคายเคืองอาจเกิดได้หลายลักษณะ อาทิเช่น ผื่นแดงนูน ตุ่มน้ำ คัน แสบหรือแสบร้อน บริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้วเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้มากที่สุด คือ บริเวณใบหน้าและเปลือกตา เนื่องจากเป็นบริเวณที่ผิวหนังบอบบางที่สุด การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์อุปโภคต่างๆ ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ผลิตควรเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของตนเองว่ามีผลก่อให้เกิดอาการแพ้ระคายเคืองหรือไม่ โดยทำการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอีกด้วย ในปัจจุบันการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมี 3 แบบ ได้แก่ Patch Test, Human Repeat Insult Patch Test (HRIPT) และ Use Test ซึ่งแต่ละวิธีทดสอบ ก็จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเจ้าของแบรนด์จะต้องการคำเคลมรูปแบบใดบนฉลาก ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อแตกต่างของการทดสอบแต่ละแบบ ( Dermatologist Tested ) พร้อมข้อมูลในเรื่องค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เพื่อให้เจ้าของแบรนด์ได้เตรียมพร้อม หากต้องการจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคขึ้นอีกขั้น

Patch Test

การทดสอบเพื่อประเมินการเกิดการระคายเคืองของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ด้วยการตรวจประเมินโดยเจ้าหน้าที่วิจัย ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง การทดสอบนี้ต้องใช้อาสาสมัครอย่างน้อย จำนวน 20 คน ระยะเวลาการทดสอบ 2-3 วัน เป็นวิธีการนำสารหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทดสอบ ใส่ลงในแผ่นแปะทดสอบการระคายเคือง Finn Chamber ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 mm. แล้วนำแผ่นดังกล่าวมาแปะบนผิวหนังที่สะอาดของอาสาสมัครและปิดทับด้วย Hypoallergenic Tape ทิ้งไว้ 24 หรือ 48 ชั่วโมง ขึ้นกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน การทดสอบมีการเปรียบทียบผลกับตัวควบคุมที่ให้ผลลบ (Negative Control) และตัวควบคุมที่ให้ผลบวก (Positive Control) มีการวิเคราะห์ผลและความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยการทดสอบทางสถิติทางชีววิทยา ( Biostatistics Analysis Tool ) การทำแพ็ทเทสต์ มี 2 วิธี คือ

  • Open Patch Test เป็นการทดสอบโดยการเอาสารมาทาไว้ที่บริเวณท้องแขน หลัง หรือ หลังหู ขนาด 1 ตารางเซนติเมตร โดยไม่มีการ ปิดทับด้วยวัสดุใดๆ สารที่นำมาทดสอบด้วยวิธีนี้ มักเป็นสารที่มีประวัติให้ความระคายเคืองหรือเกิดการแพ้ได้บ่อย เช่น ผงซักฟอก สบู่ น้ำยาดัดผม แต่ถ้าเป็นสารที่เกิดปฏิกิริยามาก อาจทำการเจือจางเสียก่อน โดยให้ลดความเข้มข้นลงเหลือ 1 ใน 10 ก็พอ สารที่ทำให้ระคายเคืองมักจะอ่านผลภายใน 12 ชั่วโมง ส่วนสารที่ทำให้เกิดการแพ้นั้นจะแสดงปฏิกิริยาภายใน 48 ถึง 72 ชั่วโมง หรือทำการทดสอบง่ายๆ โดยการทาสารนั้นที่ใบหูทุกวันติดต่อกันนานประมาณ 10 วัน
  • Close Patch Test เป็นการทดสอบโดยใช้ผ้าก๊อซและแผ่นพลาสเตอร์ที่มีสารเคมีหรือสารตัวอย่างที่จะทำการทดสอบ และนำมาติดที่ผิวหนัง ถ้าทำจำนวนน้อยก็อาจทำบริเวณต้นแขน หรือทำบริเวณแผ่นหลังในกรณีที่ต้องการทดสอบสารจำนวนมากและจะอ่านผลหลังจาก 48 ชั่วโมง จะดึงแผ่นที่แปะออกและดูว่าบริเวณที่แปะมีอาการแพ้หรือไม่ อาการแพ้อาจเกิดที่บริเวณอื่นที่ไม่ได้ติดแผ่นทดสอบก็ได้

สามารถเคลมบนฉลากได้ว่า : Clinically Tested, Irritation Tested, Non-Irritating, Safety Tested

การทดสอบสารบางอย่างอาจจะมีการฉายแสงโดยใช้หลอดไฟ Mercury Arc Lamp เพื่อใช้แทนแสง UV ด้วย หากมีปฏิกิริยาการแพ้เกิดขึ้นเรียกว่า Photoallergic Contact Dermatitis ระยะเวลาในการทดสอบ 3 – 7 วัน หลังผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มีค่าใช้จ่ายในการทดสอบเริ่มต้นที่ 20,000-30,000 บาท ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ พร้อมรายงานผลการทดสอบการระคายเคืองจากห้องปฏิบัติการและลงนามโดยผู้แพทย์เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง

Human Repeat Insult Patch Test (HRIPT)

การประเมินแนวโน้มของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ต่อผู้บริโภค เป็นการทดสอบเพื่อประเมินการเกิดการระคายเคืองของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ด้วยการตรวจประเมินโดยเจ้าหน้าที่วิจัย ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังการทดสอบนี้ทำในอาสาสมัครจำนวน 55 คน ระยะเวลาการทดสอบ 6 สัปดาห์ เป็นวิธีการนำสารหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทดสอบ ใส่ลงในแผ่นแปะทดสอบการระคายเคือง Finn Chamber ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 mm. แล้วนำแผ่นดังกล่าวมาแปะบนผิวหนังที่สะอาดของอาสาสมัครและปิดทับด้วย Hypoallergenic Tape 48 ชั่วโมง แล้วกลับมาประเมินที่ห้องปฏิบัติการทุก 2 วัน หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาทดสอบ มีการวิเคราะห์ผลและความน่าเชื่อถือของข้อมูลโดยโปรแกรมวิเคราะห์ชีวสถิติ (Biostatistics Analysis Tool) และการติดตามอาสาสมัครอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากเป็นการวิจัยต่อเนื่อง ใช้เวลานาน ระยะเวลาในการทดสอบ 6 สัปดาห์ หลังผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ มีค่าใช้จ่ายในการทดสอบ เริ่มต้นที่ 100,000 – 300,000 บาท ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ พร้อมรายงานผลการทดสอบการระคายเคืองจากห้องปฏิบัติการและลงนามโดยผู้แพทย์เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง

สามารถเคลมบนฉลากได้ว่า: Clinically Tested, Irritation Tested, Non-Irritating, Safety Tested

แต่ในกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถเปิดเผยสูตร ผลการทดสอบจะสรุปได้แค่ ‘Non-Irritating’ และ ‘Non-Sensitizing’ และในการสรุปผลว่าเป็น Hypoallergenic หรือไม่ จะต้องมีการประเมินสูตรของผลิตภัณฑ์ร่วมด้วยซึ่งลูกค้าจะต้องส่งสูตร พร้อมเอกสาร MSDS ของ Raw Material ในสูตรทุกตัว และ Quantitative Formula เพื่อหาปริมาณสารสำคัญในสูตร ซึ่ง Hypoallergenic Tested เป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถูกออกแบบมาเพื่อผิวแพ้ง่าย ทดสอบแล้วว่ามีโอกาสเกิดการแพ้น้อยกว่าปกติ เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผู้ผลิตหลีกเลี่ยงการใช้ส่วนประกอบที่เสี่ยงต่อการแพ้ระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ น้ำหอม และสารกันเสีย เป็นต้น หรือใส่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าปกติ

Use Test

การทดสอบภายใต้การควบคุมของแพทย์เฉพาะทาง และประเมินความพึงพอใจของอาสาสมัคร ดำเนินงานวิจัยภายใต้การควบคุมของแพทย์เฉพาะทาง อาทิ แพทย์ผิวหนัง สูตินรีแพทย์ จักษุแพทย์และทันตแพทย์ จากการใช้ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และประเมินความพึงพอใจของอาสาสมัคร ใช้ระยะเวลาในการทดสอบขึ้นกับระยะเวลาที่ต้องการให้เห็นผล อย่างน้อย 7 – 60 วัน และการทดสอบประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อนจึงจะทำการทดสอบได้ ซึ่งจะใช้เวลาในการอนุมัติ ไม่เกิน 3 เดือน มีค่าใช้จ่ายในการทดสอบ เริ่มต้นที่ 120,000 บาท ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการวัดอย่างน้อย 1 เครื่องมือ ในกลุ่มอาสาสมัคร ขั้นต่ำ 20 คน โดยจะได้รับรายงานผลการทดสอบการระคายเคืองจากห้องปฏิบัติการและลงนามโดยผู้แพทย์เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ภาพถ่าย ก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ 2 ภาพ ที่ได้รับการยินยอมจากอาสาสมัครโดยไม่เปิดเผยชื่อและปิดแถบดำที่ตาทุกภาพ

การทดสอบนี้เป็นการทดสอบเพียงเบื้องต้น ซึ่งบางครั้งการแพ้อาจมีปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย เช่น จากภูมิต้านทานผิวที่เปลี่ยนไป จากสารเคมีอื่นๆ จากแสงแดด จากฝุ่นละออง จากเหงื่อ จากยาหรือจากอาหารที่รับประทาน เป็นต้น ดังนั้น เมื่อทดสอบการแพ้ด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว การใช้ผลิตภัณฑ์จริง ก็จะต้องคอยสังเกตุ หากเกิดอาการแพ้ขึ้นมา จะต้องหยุดใช้ครีมก่อน และหากอาการไม่ดีขึ้น ควรจะไปพบแพทย์ผิวหนังทันที และนำเครื่องสำอางนั้นไปให้แพทย์วิเคราะห์ เพื่อที่จะได้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น ว่าเราแพ้สารอะไรกันแน่เพราะในเครื่องสำอางแต่ละชนิดประกอบไปด้วยสารเคมีมากมาย อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะทดสอบอย่างไรต่อไป

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเครื่องสำอาง ให้เลือกมากมาย แต่สิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจในการเลือกใช้ให้กับผู้บริโภค คือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบหรือการรับรองที่มีมาตรฐาน ซึ่งหน่วยงานที่จะทดสอบและสามารถรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้นั้น ก็ต้องมีความน่าเชื่อและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งทางเราก็ได้รวบรวมมาให้ เช่น ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทางผิวหนัง Dermocosmetic Testing Center (MUPY-DTC) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Dermscan Asia, Spin control Asia, SkinLab Asia, Green Leaf Chemical, The Central Lab, DRC Thailand, Quality Plus Aesthetic International เป็นต้น นอกจากความปลอดภัยและประสิทธิภาพแล้ว ผู้บริโภคสมัยใหม่ยังคงมองหาประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างของทางแบรนด์ที่ได้คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาให้ได้สัมผัสขณะการใช้งานบนผิวอีกด้วย


ข้อมูลอ้างอิง
http://dermatest.com.au // https://www.evalulab.com/ // https://www.verymwl.com/

Share:
Share on facebook
Share on twitter
Share on pinterest
Share on linkedin
รับคำปรึกษาฟรี
เริ่มต้นสร้าง
แบรนด์กับเรา
เพิ่มเพื่อน

Connect us

Most Popular

บทความล่าสุด

บทความที่คุณอาจสนใจ